2025.05.08การทำงาน • ทำงานบริษัทญี่ปุ่น

Ikigai กับการทำงาน หาความหมายของชีวิตผ่านการทำงาน

Ikigai กับการทำงาน หาความหมายของชีวิตผ่านการทำงาน

หลายคนอาจเคยรู้สึกว่า “ทำไมเราต้องตื่นมาทำงานทุกวัน?” หรือ “งานที่ทำอยู่คือสิ่งที่ใช่จริงๆ หรือเปล่า?” หากคุณเคยตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเอง นี่อาจเป็นเวลาที่ดีในการทำความรู้จักกับคำว่า “อิคิไก” (Ikigai) แนวคิดจากญี่ปุ่นที่ช่วยให้เราค้นพบความหมายของชีวิตและความสุขในการทำงานได้อย่างลึกซึ้ง

อิคิไก (Ikigai) คืออะไร?

อิคิไก (Ikigai –  生き甲斐) คือ ปรัชญาการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น  โดยคำว่า อิคิ (Iki – 生き) แปลว่า “ชีวิต” และคำว่า ไก (Kai – 甲斐) แปลว่า “ผลลัพธ์” หรือ “คุณค่า” เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “คุณค่าของการมีชีวิตอยู่” หรือ “เหตุผลในการมีชีวิตอยู่” อิคิไกเป็นปรัชญาชีวิตเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ช่วยให้เราหาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า การตื่นมาในแต่ละวันมีความหมายอย่างไร เป้าหมายในชีวิตของเราวันนี้คืออะไร และเราจะใช้ชีวิตอย่างสมดุลได้ด้วยวิธีการไหนบ้าง เมื่อเราค้นพบเป้าหมายหรือความหมายนั้น เราก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อิ่มเอมใจ มีความหมาย และต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น  อิคิไกไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งยิ่งใหญ่เสมอไป อิคิไกของแต่ละคนสามารถแตกต่างกันได้ เช่น งานที่รัก การดูแลครอบครัว การสร้างสรรค์ หรือการช่วยเหลือผู้อื่น

พื้นฐานของ อิคิไก (Ikigai) ประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • 1.สิ่งที่คุณรัก (What you love) คือสิ่งที่คุณรู้สึกหลงใหลและทำแล้ว “อิน” โดยไม่ฝืน เช่น บางคนรักการพูด บางคนรักการเขียน หรือช่วยเหลือผู้อื่น ถ้างานของคุณมีองค์ประกอบของสิ่งที่คุณรักอยู่ จะช่วยให้ทำงานด้วยความสุข แม้ในวันที่เหนื่อย
  • 2.สิ่งที่คุณทำได้ดี (What you are good at) คือทักษะ ความสามารถ หรือพรสวรรค์ที่คุณมี อาจมาจากประสบการณ์ หรือจากสิ่งที่คุณเรียนรู้และพัฒนา  การได้ทำงานที่ตนเอง “ถนัด” ช่วยให้เกิดความมั่นใจ และมีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงขึ้น
  • 3.สิ่งที่โลกต้องการ (What the world needs) หมายถึง ความต้องการของสังคม ตลาดแรงงาน หรือปัญหาที่รอการแก้ไข เช่น ธุรกิจที่ช่วยลดขยะ, งานที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุ, หรือการให้ความรู้กับเยาวชน การทำงานที่ตอบโจทย์นี้จะช่วยให้คุณรู้สึกว่างานของคุณ “มีคุณค่า” และมีผลกระทบที่ดีต่อผู้อื่น
  • 4.สิ่งที่คุณสามารถได้รับค่าตอบแทน (What you can be paid for)  คือ งานที่สามารถสร้างรายได้หรือเป็นอาชีพได้จริง เช่น งานที่มีความต้องการในตลาด และมีความยั่งยืน ถึงแม้จะรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ อาจไม่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคงในระยะยาว

จุดตัด 4 ส่วนที่สำคัญของอิคิไก

  • 1.สิ่งที่หลงใหล (Passion) เกิดจากการรวมกันของสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เราทำได้ดี เป็นแรงผลักดันให้ตื่นขึ้นมาทำสิ่งนั้นทุกวัน หากขาดสมดุล อาจหมดไฟหรือสูญเสียแรงบันดาลใจได้
  • 2.ภารกิจ (Mission) คือสิ่งที่เรารักและโลกต้องการ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า แม้ไม่ได้เงินมาก แต่เต็มไปด้วยความหมายและแรงขับจากภายใน
  • 3.วิชาชีพ/ความเชี่ยวชาญ (Profession) คือสิ่งที่เราทำได้ดีและสร้างรายได้ เป็นพื้นฐานของงานที่มั่นคง หากเชื่อมโยงกับสิ่งที่รักและโลกต้องการได้ จะทำให้อาชีพมีความสุขและยั่งยืน
  • 4.งาน/อาชีพ (Vocation) คือสิ่งที่โลกต้องการและพร้อมจ่ายค่าตอบแทน หากพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาด ก็จะมีโอกาสเติบโตและสร้างความมั่นคงในชีวิต

จุดตัดกลางของ 4 ส่วนนี้คือ Ikigai ซึ่งเป็นจุดที่ “หัวใจ” และ “การใช้ชีวิต” เดินทางไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีความหมาย

อิคิไก (Ikigai)  สำคัญต่อการทำงานอย่างไร?

การทำงานที่สอดคล้องกับ Ikigai ทำให้ชีวิตการทำงานมีความหมายมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มมองหาความสมดุลระหว่างชีวิตและการงาน (Work-Life Integration) มากกว่าแค่ค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว ประโยชน์ของ Ikigai ในการทำงาน

  • 1.เพิ่มความสุขในการทำงาน ลดความเครียดและความเบื่อหน่ายจากการทำงานแบบเดิมๆ คนที่ทำงานตาม Ikigai มักไม่รู้สึกว่า “กำลังทำงาน” เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีความหมาย รวมภึงช่วยลดภาวะเบื่องาน (burnout) และความรู้สึก “หมดไฟ”
    2.เพิ่มความผูกพันกับองค์กร เพราะรู้สึกว่างานมีคุณค่า ทีมงานที่ค้นพบ Ikigai ของตนเองจะร่วมสร้างองค์กรที่มีวัฒนธรรมเชิงบวก (positive work culture)
    3.ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และแรงจูงใจภายใน คนที่เข้าใจ Ikigai ของตนเองจะมีแรงขับภายในสูง มุ่งมั่น และทำงานด้วยความตั้งใจ
    4.สร้างเส้นทางอาชีพที่ยั่งยืน เพราะคุณเห็นภาพเป้าหมายชัดเจน เมื่อเข้าใจ Ikigai ของตนเอง ก็จะสามารถวางแผนอาชีพได้ตรงจุด เช่น บางคนอาจค้นพบว่าอยากเปลี่ยนจากงานหลังบ้านไปเป็นงานบริการที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนมากขึ้น

การนำอิคิไกมาใช้กับชีวิตการทำงานได้อย่างไร?

  • 1.ทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง ใช้เวลาเงียบๆ สักวัน ลองเขียนลงกระดาษหรือสมุดบันทึก คำตอบของ 4 หัวข้อ Ikigai หรือ อาจลองพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือโค้ชชีวิต เพื่อช่วยสะท้อนมุมมอง
  • 2.ลองสร้าง “แผนภาพ Ikigai” ด้วยตัวเอง  โดยการลองวาดแผนภาพ 4 วงกลมซ้อนกัน แล้วเขียนสิ่งที่คิดในแต่ละวง  จุดที่เขียนแล้วเชื่อมโยงถึงกัน คือจุดเริ่มต้นของ Ikigai เช่น รักการสื่อสาร → ถนัดพรีเซนต์ → โลกต้องการนักสื่อสารที่จริงใจ → ได้ค่าตอบแทนในสายงาน HR หรือ Trainer
  • 3.ตั้งเป้าหมายให้ขยับเข้าใกล้ Ikigai ถ้าปัจจุบันยังไม่ใช่งานในฝัน อาจเริ่มจากการ เสริมทักษะ ที่ชอบ หรือลอง โปรเจกต์อาสา เล็กๆ เพื่อหาแนวทางของตัวเอง
  • 4.สร้างวัฒนธรรม Ikigai ในทีม/องค์กร  บริษัทจัดกิจกรรม Workshop เช่น “Ikigai Mapping Day” หรือ “ค้นหา Passion ในงานที่ทำ” เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าใจตัวเอง หรือการส่งเสริมให้หัวหน้าทีมพูดคุยกับลูกทีมเรื่องเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายในงานบ้าง (ไม่ใช่แค่เรื่องยอดขายหรือผลงานเท่านั้น)

การค้นพบ Ikigai ไม่ได้แปลว่าคุณต้องลาออกไปตามฝันทันที แต่เป็นกระบวนการของการเข้าใจตัวเองมากขึ้น และค่อยๆ ปรับชีวิตการทำงานให้มีความหมาย  เพราะเมื่อคุณทำงานที่ตรงกับ Ikigai – งานนั้นไม่ใช่แค่ “งาน” อีกต่อไป แต่มันคือ “ชีวิต”

ที่มา  Trueplookpanya JobsDB

บริษัทจัดหางาน เพอร์ซันแนล คอนซัลแตนท์ฯ เราเป็นบริษัทจัดหางานญี่ปุ่นในกรุงเทพ  ให้บริการจัดหางานและสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถทั้งชาวไทยและญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ท่านที่สนใจหางาน อยากทำงานบริษัทญี่ปุ่น ไทยและต่างชาติ  ลงทะเบียนสมัครงานกับเพอร์ซันแนลฯ   ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ต้องการฝากประวัติ https://www.personnelconsultant.co.th/jobseeker/register_jobseeker/
สอบถามโทร 02-2608454 หรือส่งเรซูเม่ (ภาษาอังกฤษ) jobs@personnelconsultant.co.th